สมัยกรุงธนบุรี
หลังจากกรุงศรีอยุธยา เสียเอกราชแก่พม่า เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ พม่าทำลายล้างผลาญโดยที่ต้องการจะมิให้ไทยตั้งตัวขึ้นอีก ได้ริบทรัพย์จับเชลย เผาผลาญทำลายปราสาทราชมณเฑียร วัดวาอารามตลอดจนบ้านเมืองของราษฎรครั้งนั้นพม่าได้กวาดต้อนผู้คนไปเป็นเชลยประมาณ ๓๑,๐๐๐ คน กรุงศรีอยุธยาเกือบจะไม่มีอะไรเหลืออยู่เลย นอกจากซากสลักหักพังสภาพเหมือนเมืองร้าง อยุธยาเมืองหลวงของไทย ซึ่งเคยรุ่งเรืองมาหลายร้อยปีมีกษัตริย์ปกครองติดต่อกันมาถึง ๓๔ พระองค์ ต้องมาเสียแก่พม่าก็เพราะการที่คนไทยแตกความสามัคคีกันเองแต่กรุงศรีอยุธยาก็ยังไม่สิ้นคนดี คือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้พาสมัครพรรคพวกยกออกจากรุงศรีอยุธยา ไปรวมกำลังอยู่ที่เมืองจันทบุรีมีอาณาเขตตลอดบริเวณหัวเมืองชายทะเลด้านตะวันออกต่อแดนกัมพูชา จนถึงเมืองชลบุรี ซึ่งขณะนั้นหัวเมืองต่าง ๆ ที่มิได้ถูกกองทัพพม่าย่ำยี มีกำลังคน กำลังอาวุธ ก็ถือโอกาสตั้งตัวเป็นอิสระ เป็นชุมชนต่าง ๆ ขึ้น และหวังที่จะเป็นใหญ่ในเมืองไทยต่อไป
ชุมนุมที่สำคัญมี ๕ ชุมนุม คือ
๑. ชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) อาณาเขตตั้งแต่เมืองพิชัยลงมาจนถึงเมือง
นครสวรรค์
๒. ชุมนุมเจ้าพระฝาง (เรือน) อาณาเขตตั้งแต่เมืองเหนือพิชัยถึงเมืองแพร่ เมืองน่านและ
เมืองหลวงพระบาง
๓. ชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราช มีอาณาเขตตอนใต้ต่อแดนมลายูขึ้นมาถึงเมืองชุมพร
๔. ชุมนุมเจ้าพิมายหรือกรมหมื่นเทพพิพิธ โอรสสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เมื่อกรุงศรี
อยุธยาเสียแก่พม่า พระพิมายเจ้าเมืองถือราชตระกูลและมีความจงรักภักดีต่อราชวงศ์จึงยกกรมหมื่นเทพพิพิธขึ้นเป็นใหญ่ ณ เมืองพิมาย ชุมนุมนี้มีอาณาเขตบริเวณหัวเมืองด้านตะวันออกเฉียงเหนือจดแดนลานช้าง กัมพูชา ตลอดลงมาจนถึงสระบุรี
ดูจากอาณาเขตของชุมนุมพิมายในสมัยนี้แล้ว ครอบคลุมเมืองนครราชสีมาและเมืองชัยภูมิด้วย เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้เมืองต่าง ๆ ที่อยู่ในอาณาบริเวณนี้ก็ตกอยู่ในอำนาจของกรมหมื่นเทพพิพิธแห่งชุมนุมพิมาย
๕. ชุมนุมพระยาตาก ตั้งตัวเป็นใหญ่อยู่ที่เมืองจันทบุรี มีอาณาเขตตั้งแต่แดนกรุงกัมพูชา
ลงมาจนถึงชลบุรี
พ.ศ. ๒๓๑๑ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้ยกทัพมาปราบชุมนุมพิมายได้สำเร็จและให้ขึ้นต่อเมืองนครราชสีมาตามเดิมและในช่วง ๑๕ ปี ของสมัยธนบุรี ประวัติเมืองชัยภูมิไม่ได้กล่าวไว้เลย แต่เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในเขตเมืองพิมายและเมืองนครราชสีมาก็รวมอยู่เขตเมืองชัยภูมิและการปกครองก็มีรูปแบบเหมือนสมัยอยุธยาตอนปลาย เพราะฉะนั้นเมืองชัยภูมิก็ยังขึ้นตรงต่อเมืองนครราชสีมา เช่นเดิมตลอดรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น